เชิงชายลายกระเบื้อง เป็นผลงานสร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลปอ่างทอง ในปี พ.ศ. 2566 ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากลวดลายกระเบื้องเชิงชายในสมัยอยุธยาซึ่งมีลักษณสามเหลี่ยมหน้าจั่วหรือสามเหลี่ยมด้านเท่าเป็นกระเบื้องแผ่นสุดท้ายของชายคาที่ใช้มุงไว้ริมล่างสุดของผืนหลังคาแต่ละตับ โดยใช้กับอาคารฐานันดรทั้งในวังและในวัดโดยมีความหมายเชิงประติมานวิทยาที่เชื่อว่ากระเบื้องเชิงชายแต่ละชิ้นคือวิมานที่สถิตของเทวดา การแสดงชุดนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงที่ 1 นำเสนอภาพนิ่งประกอบบทขับร้องสื่อถึงลวดลายกระเบื้องเชิงชายทั้ง 7 ลาย ช่วงที่ 2 นำเสนอลวดลายกระเบื้องเชิงชายทั้ง 7 ลาย ประกอบด้วย 1) ลายดอกบัว 2) ลายเทพนม 3) ลายหน้ากาล 4) ลายพันธุ์พฤกษา 5) ลายครุฑยุดนาค 6) ลายวงโค้งประกอบกันเป็นรูปสามเหลี่ยม และ 7) ลายทรงกระจัง โดยนำเสนอด้วยกระบวนท่ารำนาฏศิลป์ไทยจากการแสดงโขนและละครในรูปแบบนาฏศิลป์สร้างสรรค์แนวอนุรักษ์ และใช้วงดนตรีปี่พาทย์เครื่องคู่ประสมเครื่องดนตรี ได้แก่ ระฆัง กังสดาล ใบระกา บัณเฑาะ ประกอบการประพันธ์ทำนองขึ้นใหม่จำนวน 7 ทำนอง เพื่อสื่ออารมณ์และความหมายของลวดลายทั้ง 7 ลาย
ชมคลิปการแสดง